หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Passport)

หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Passport)
920 view

การทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Passport)

หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Passport) คือหนังสือเดินทางที่มีการบันทึกข้อมูลชีวภาพ (Biometric Data) ได้แก่ รูปใบหน้าและม่านตา หรือลายนิ้วมือไว้ใน Contactless Integrated Circuit ซึ่งฝังอยู่ในหนังสือเดินทางและมีการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อการตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของหนังสือเดินทาง

หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารถต่ออายุในเล่มเดิมได้ ดังนั้นเมื่อหนังสือเดินทางหมดอายุ ผู้ร้องจะต้องขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ โดยข้อมูลส่วนบุคคลในหนังสือเดินทางจะอ้างอิงตามข้อมูลในทะเบียนบ้านของผู้ร้องที่ประเทศไทย ดังนั้นชื่อ–นามสกุลในหนังสือเดินทางเล่มใหม่จะตรงกับหลักฐานทะเบียนบ้านหรือบัตรประชาชนไทย ไม่ขึ้นอยู่กับหนังสือเดินทางเล่มเดิม หากผู้ร้องต้องการให้นามสกุลในหนังสือเดินทางเป็นนามสกุลหลังการสมรสหรือหย่า ผู้ร้องจะต้องแก้ไขข้อมูลในทะเบียนราษฎร์เสียก่อนจึงขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่

ขั้นตอนการนัดหมายเพื่อยื่นคำร้อง

  • ผู้ร้องส่งอีเมลมาที่ [email protected] เพื่อนัดหมายวันและเวลาที่ผู้ร้องจะเดินทางมายื่นเรื่องที่สถานเอกอัครราชทูตฯ 
  • ผู้ร้องจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการทำหนังสือเดินทางฯ ที่ธนาคาร Scotia Bank สาขาใดก็ได้ ชื่อบัญชี Embajada del Reino de Tailandia เลขที่บัญชี 00107234066 โดยนำเงินสดดอลลาร์สหรัฐไปให้พอดี (ไม่สามารถโอนเงินผ่านธนาคารได้) จากนั้นจึงนำใบเสร็จธนาคารยื่นพร้อมเอกสารในข้อ 3
    • หมายเหตุ: ใบเสร็จธนาคารมีอายุเพียงในเดือนที่ผู้ร้องทำนัดไว้ หากผู้ร้องไม่แน่ใจว่าสามารถเดินทางมาตามวันเวลาที่นัดได้ ผู้ร้องไม่ควรโอนเงินล่วงหน้าเป็นเวลานาน ทั้งนี้วันที่โอนเงินตามใบเสร็จต้องเป็นภายในเดือนเดียวกับที่ผู้ร้องเดินทางมาทำหนังสือเดินทาง หากผู้ร้องนำเอกสารมาไม่ครบหรือไม่ถูกต้อง ทางสถานทูตไม่สามารถคืนเงินให้ในทุกกรณี
  • การทำหนังสือเดินทางที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ในวันนัดหมาย ผู้ร้องจะต้องมายื่นคำร้องด้วยตนเอง เนื่องจากจะต้องผ่านกระบวนการบันทึกข้อมูลชีวภาพ ได้แก่ การพิมพ์ลายนิ้วมือและถ่ายภาพใบหน้า โดยให้นำเอกสารสำคัญมาดังนี้
    • บัตรประจำตัวประชาชนไทย
    • หนังสือเดินทางเล่มปัจจุบัน
    • ใบเสร็จการชำระค่าธรรมเนียม
    • ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับบริการจัดส่งเล่มทางไปรษณีย์ DHL (ติดต่อสอบถามค่าใช้จ่ายได้ที่ [email protected] พร้อมแจ้งชื่อ-นามสกุลผู้รับ ที่อยู่ รหัสไปรษณีย์ และเบอร์โทรศัพท์มือถือให้ชัดเจน)

ผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 20 ปีบริบูรณ์มีสิทธิขอหนังสือเดินทางไทย

ผู้เยาว์ที่เกิดในเม็กซิโก โดยมีบิดาหรือมารดาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายเป็นผู้มีสัญชาติไทย และผู้เยาว์มีสูติบัตรไทย สามารถขอขอหนังสือเดินทางไทยโดยมีมีรายละเอียดการเตรียมเอกสารดังนี้

เอกสารหลักฐาน

  • สูติบัตรไทยของผู้เยาว์
  • หนังสือเดินทางฉบับปัจจุบันของบิดาและมารดา
  • บัตรประชาชนไทยของบิดาหรือมารดาที่มีสัญชาติไทย
  • สำเนาทะเบียนสมรสของบิดาและมารดา
  • บัตรประชาชนไทยหรือสำเนาทะเบียนบ้านของผู้เยาว์
  • บิดาและมารดาของผู้เยาว์จะต้องมาลงนามให้ความยินยอมในการออกหนังสือเดินทางต่อหน้าเจ้าหน้าที่ หากบิดาและมารดาไม่สามารถมาลงนามให้ความยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ได้ ให้ทำ “หนังสือมอบอำนาจและให้ความยินยอม” โดยต้องไปลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ Public Notary เพื่อรับรองลายมือชื่อของบิดาและมารดา ในกรณีที่บิดามารดาอยู่ที่ประเทศไทย ทั้งบิดาและมารดาต้องทำ “หนังสือให้ความยินยอม” ให้บุตรทำหนังสือเดินทางผ่านกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ (กรุงเทพฯ) หรือผ่านที่ว่าการอำเภอ (ต่างจังหวัด) กรณีที่บิดามารดาจดทะเบียนหย่าแล้ว ให้ฝ่ายที่มีอำนาจปกครองบุตรเป็นผู้ลงนามในหนังสือยินยอมเพียงฝ่ายเดียว

การรับหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์

ผู้ร้องสามารถรับเล่มหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ 3 วิธี คือ

  • ผู้ร้องมารับหนังสือเดินทางด้วยตนเองที่สถานเอกอัครราชทูตฯ โดยต้องนำใบรับเล่มและใบเสร็จรับเงินมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ด้วย
  • ทำหนังสือมอบฉันทะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งอื่นมารับแทนหรือแจ้งเจ้าหน้าที่ผ่านทางอิเมล์ [email protected] พร้อมแนบสำเนาเอกสารของผู้รับที่มีชื่อ-นามกสุลที่ออกโดยหน่วยงานราชการไทยหรือเม็กซิโก
  • หากประสงค์ให้สถานเอกอัครราชทูตฯ จัดส่งกลับให้ทางไปรษณีย์ ติดต่อสอบถามค่าใช้จ่ายได้ที่ [email protected] พร้อมแจ้งชื่อ-นามสกุลผู้รับ ที่อยู่ รหัสไปรษณีย์ และเบอร์โทรศัพท์มือถือให้ชัดเจน
    • หมายเหตุ: สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่รับผิดชอบกรณีเอกสารสูญหาย ไม่ว่ากรณีใดๆ

ค่าธรรมเนียม

  • หนังสือเดินทางบุคคลทั่วไปอายุ 5 ปี ค่าธรรมเนียม 40.00 ดอลลาร์สหรัฐ
  • หนังสือเดินทางบุคคลทั่วไปอายุ 10 ปี ค่าธรรมเนียม 55.00 ดอลลาร์สหรัฐ

 

ในกรณีผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอมีหนังสือเดินทางครั้งแรกในต่างประเทศ โดยที่ผู้ร้องมีชื่อในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรแต่ยังไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ให้ออกหนังสือเดินทางบุคคลทั่วไปที่มีอายุ 5 ปี เท่านั้น

 

เมื่อผู้ร้องบรรลุนิติภาวะ (มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์) ได้ดำเนินการทางทะเบียนราษฎรเสร็จสิ้นแล้ว (ยื่นเรื่องด้วยตนเองที่กรมการปกครองหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน) จึงจะสามารถยื่นคำร้องขอมีหนังสือเดินทางบุคคลทั่วไปอายุ 10 ปีได้ บุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว สามารถยื่นคำขอมีหนังสือเดินทางทั่วไปได้ทั้ง 2 แบบ

ข้อแนะนำอื่น ๆ

การผลิตหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์จะใช้เวลา 6-8 สัปดาห์โดยประมาณ (สำหรับผู้ร้องที่มีข้อมูลบุคคลครบถ้วนถูกต้องและไม่พบข้อขัดข้องในการตรวจสอบข้อมูลประวัติบุคคล โดยนับตั้งแต่วันที่ยื่นคำร้องจนกระทั่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับหนังสือเดินทางที่จากกระทรวงการต่างประเทศ)